ห้องเก็บเสียงเครื่องจักรต่างจากห้องโฮมเธียเตอร์อย่างไร
เมื่อนึกถึงแนวทางการลดเสียงดังรบกวนที่หลายท่านเผชิญอยู่ ห้องเก็บเสียงมักจะถูกนึกขึ้นมาเป็นตัวเลือกแรกๆกันเลยทีเดียว ความหมายของห้องเก็บเสียงก็คือห้องที่ไม่ยอมให้เสียงทะลุผ่านผนังห้องออกไป ทำให้ผู้รับเสียงที่อยู่ภายนอกห้องไม่ได้ยินเสียงจากแหล่งกำเนิดเสียงหรือกิจกรรมการทำงานใดๆ ที่เกิดขึ้นภายในห้องนั่นเอง ห้องโฮมเธียเตอร์ก็จัดได้ว่าเป็นห้องเก็บเสียงประเภทหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้ได้อรรถรสในการรับชมภาพและเสียงจากเครื่องเล่นภายในห้องได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลที่อยู่ด้านนอกห้อง สำหรับห้องเก็บเสียงเครื่องจักรนั้น จะมีหลักในการสร้างห้องคล้ายกับห้องโฮมเธียเตอร์ แต่จะต่างกันที่วัสดุ การออกแบบ ระบบอื่นๆที่ต้องมีเพิ่มเข้ามาเช่น ระบบระบายอากาศ ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบระบายอากาศ เป็นต้น แน่นอนว่าห้องเก็บเสียงเครื่องจักรจะมีราคาสูงกว่าห้องโฮมเธียเตอร์อย่างแน่นอน
ห้องเก็บเสียงเครื่องจักรนำมาใช้กับอาคารพักอาศัยทั่วไปได้หรือไม่
วัสดุที่ใช้สำหรับทำห้องเก็บเสียงเครื่องจักร จะถูกออกแบบให้เหมาะสมกับแหล่งกำเนิดเสียงและสภาวะการใช้งานนั้นๆ ประการแรกคือต้องกันเสียงเครื่องจักรที่มีพลังงานเสียง (sound power – SWL) ที่ในบางกรณีอาจสูงกว่า 110 dB ได้ เพราะฉะนั้นทั้งวัสดุกันเสียงและแผ่นซับเสียงจะต้องมีค่า NRC (noise reduction coefficient) ที่ 0.8 หรือสูงกว่า ประการต่อมาวัสดุที่นำมาใช้ทำห้องเก็บเสียงเครื่องจักร จะต้องไม่ลามไฟ ไม่เป็นเชื้อเพลิง ทนต่อสารเคมี ไม่มีฝุ่นฟุ้งและทำความสะอาดง่าย เราสามารถเลือกใช้วัสดุกันเสียงหรือวัสดุซับเสียงบางรายการที่ใช้สำหรับทำห้องเก็บเสียงเครื่องจักร มาประยุกต์ใช้ทำห้องเก็บเสียงภายในบ้านหรืออาคารพักอาศัยได้ เช่น ห้องเก็บเสียงระบบปั๊มน้ำ ห้องเก็บเสียงห้องเครื่องปั่นไฟ หรือห้องเก็บเสียงสำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
ห้องเก็บเสียงเครื่องจักร ลดเสียงดังได้กี่เดซิเบล
ห้องเก็บเสียงเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพ คือออกแบบและใช้วัสดุได้ถูกต้องตามหลัก engineering noise control จะลดเสียงดังรบกวนของเครื่องจักรได้ไม่น้อยกว่า 25 dBA และจะมีผลกระทบด้านลบต่อเครื่องจักรหรือแหล่งกำเนิดเสียงที่อยู่ภายในห้องห้องน้อยมากหรือแทบไม่มีผลกระทบใดเลยๆ ทั้งในแง่ของความร้อนสะสม ความชื้นสัมพัทธ์ ไฟฟ้าสถิตย์ รวมไปถึงเชื้อราและฝุ่น แต่ในบางกรณีที่เคยเกิดขึ้น พบว่าระดับเสียงภายหลังที่เครื่องจักรมีห้องเก็บเสียง วัดระดับเสียงนอกห้องได้ไม่ถึง 10 dBA แต่ภาวะเดือดร้อนรำคาญของผู้รับเสียงหรือคนที่อยู่นอกห้องหายไป เนื่องจากความถี่รบกวนบางย่านไม่สามารถทะลุผ่านผนังห้องเก็บเสียงออกมาได้ เพราะฉะนั้นการพิจารณาห้องเก็บเสียงเครื่องจักรที่ดี ต้องไม่หลงประเด็นไปกับตัวเลขของระดับเสียงที่ลดลงเพียงอย่างเดียว เพราะอาจต้องลงทุนสูงไปจนไม่คุ้มค่าหรือไม่สมราคา แต่จะต้องหาจุดประสิทธิผล (optimum) ที่ห้องเก็บเสียงตอบโจทย์หรือความต้องการของเราได้ ทั้งระดับเสียง ค่าการรบกวนและงบประมาณ
ระหว่างห้องเก็บเสียงกับผนังกันเสียง จะเลือกแบบไหนดี
หลายคนอาจจะลังเลเมื่อต้องเลือกแนวทางการลดเสียงระหว่างห้องเก็บเสียงและผนังกันเสียง ซึ่งหลักเกณฑ์ในการเลือกก็คือ
- หากแหล่งกำเนิดเสียงมีลักษณะเป็นจุดหรือ point source และมีพลังงานเสียงมาก ห้องเก็บเสียงจะลดเสียงได้มากกว่า
- หากแหล่งกำเนิดเสียงมีลักษณะเป็นแนวยาวหรือ line source การทำผนังกันเสียงจะทำได้ง่ายและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า
- หากแหล่งกำเนิดเสียงเป็นพื้นที่หรือ area source อาจต้องเลือกใช้ผสมกันตามระดับความดังเสียงและความยากง่ายในการก่อสร้าง
โดยข้อเท็จจริงแล้ว ห้องกันเสียงจะลดเสียงรบกวนได้ดีกว่าผนังกันเสียง เนื่องจากกว่าเสียงที่อยู่ภายในห้องไม่สามารถเดินทางผ่านผนังและฝ้าของห้องได้โดยสะดวก (ห้องกันเสียงจะมีพื้นที่ 5 ด้านคือผนังและฝ้า) แต่ผนังกันเสียงจะกันเสียงได้บางมุมหรือบางพื้นที่ที่เสียงเลี้ยวเบนมาได้ยากเท่านั้น โดยเฉพาะจุดรับเสียงที่อยู่ห่างผนังกันเสียงมาก จะยังคงได้รับเสียงจากแหล่งกำเนิดเสียงอยู่ เว้นแต่ว่าผนังกันเสียงนั้นจะเป็นแบบปลายปิดหรือมีความสูงติดหลังคา เป็นต้น
อยากทราบข้อดีและข้อด้อยของห้องเก็บเสียงเครื่องจักร
ข้อดีของห้องเก็บเสียงเครื่องจักร
- ลดเสียงดังได้ประมาณ 20-25 dBA หรือมากกว่า (ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและพลังงานเสียง)
- ได้รับการออกแบบให้แก้ปัญหาทั้งด้านเสียง และความร้อน ความชื้น ไปพร้อมกัน
- ลดเสียงดังรบกวนลงได้มากกว่าการแก้ปัญหาด้วยผนังกันเสียง หรือม่านกันเสียง
- สะดวกในการซ่อมบำรุงและทำความสะอาดเครื่องจักร มากกว่าการติดตั้งแจ็คเก็ตลดเสียง
- กรณีที่เลือกเป็นห้องเก็บเสียงเครื่องจักรแบบถอดได้ จะสามารถถอดย้ายตามเครื่องจักรไปได้
- ลงทุนครั้งเดียวใช้ได้ยาวนาน เพราะมีปัญหาเรื่องการเสื่อมชำรุดของวัสดุน้อยมาก
ข้อด้อยของห้องเก็บเสียงเครื่องจักร
- บางพื้นที่มีข้อจำกัดหรือติดสิ่งกีดขวาง ทำให้ไม่สามารถสร้างห้องเก็บเสียงได้
- ไม่สามารถใช้แก้ปัญหาในบางลักษณะงานได้ เพราะถูกจัดเป็นพื้นที่อับอากาศ (confined space)
- ราคาสูงกว่าแนวทางการแก้ไขแบบม่านกันเสียงหรือผนังกันเสียง เพราะต้องมีระบบต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง