ผนังกันเสียง (Soundproofing Walls) แผ่นกันเสียง
ผนังกันเสียง แผ่นกันเสียง ทำมาจากวัสดุอะไร
ผนังกันเสียงสามารถผลิตหรือทำขึ้นมาได้จากวัสดุหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งาน ความต้องการที่จะลดพลังงานเสียงหรือความดังเสียง รวมไปถึงงบประมาณหรือราคาที่ถูกกำหนดไว้ ผนังกันเสียงโดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นผนังคอมโพสิตหรือผนังที่ประกอบด้วยวัสดุมากกว่าหนึ่งประเภทขึ้นไป ยกตัวอย่างเช่น ผนังกันเสียงคอนโดหรือผนังกันเสียงสำหรับห้องพักอาศัยแบบอาคารชุด อาจจะประกอบด้วย อิฐมวลเบา แผ่นยิปซั่ม ฉนวนซับเสียง แผ่นยางกันเสียง และแผ่นยิปซั่ม รวมความหนาทั้งหมดแล้วประมาณ 8-12 cm ในขณะที่ผนังกันเสียงเครื่องบดย่อยพลาสติค อาจจะต้องมีผนังก่ออิฐมอญเต็มแผ่น ฉนวนกันเสียง ช่องว่าง ฉนวนกันเสียงและผนังก่ออิฐมอญเต็มแผ่น ซึ่งรวมความหนาทั้งหมดแล้วอาจจะวัดได้ถึง 25-30 cm เป็นต้น
ผนังกันเสียง หรือ ผนังเก็บเสียงช่วยลดเสียงได้กี่เดซิเบล
ระดับความดังเสียงที่ถูกลดทอนโดยผนังกันเสียงหรือผนังเก็บเสียง จะแปรผันตรงกับน้ำหนัก (weight) และความหนาแน่น (density) รวมถึงระยะห่าง (air gap) และจำนวนของชั้นวัสดุ (layers) ที่นำมาผลิตหรือก่อสร้างขึ้นเป็นผนังกันเสียงนั้น กล่าวโดยทั่วไประดับเสียงที่ลดลงหลังจากติดตั้งผนังกันเสียงเสร็จแล้ว จะวัดค่าระดับเสียงภายหลังการติดตั้งเทียบกับก่อนการติดตั้งได้ตั้งแต่ 6-30 dBA ซึ่งแน่นอนว่าระดับเสียงที่ลดลงมาก ก็จะมีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการทำผนังกันเสียงเพิ่มขึ้นมากด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นการจะลงทุนกับผนังกันเสียงไม่ว่าจะเป็นในอาคารที่พักอาศัยหรืองานแก้ปัญหาเสียงดังในโรงงานก็ตาม ต้องพิจารณาว่าระดับเสียงที่ต้องการให้ลดลงหรือวัตถุประสงค์ของการลดเสียงนั้น ต้องการให้เสียงลดลงในช่วงกี่ dBA จากนั้นจึงจะคำนวณหาราคาต่อหน่วยเพื่อมาเลือกวัสดุและรายละเอียดของผนังกันเสียงแต่ละแบบ
ประสิทธิภาพของ ผนังกันเสียง ดูจากค่าอะไรบ้าง
เมื่อต้องตัดสินใจเลือกใช้ผนังกันเสียงหรือผนังเก็บเสียงในการแก้ปัญหามลภาวะทางเสียงแน่นอนแล้ว ปัจจัยต่อไปที่ต้องพิจารณาคือประสิทธิภาพของผนังกันเสียง ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะคุณสมบัติในการลดทอนเสียงเป็นหลัก ซึ่งหนึ่งในประสิทธิภาพของผนังกันเสียงนั้นสามารถพิจารณาได้จากค่า STC (Sound Transmission Class) หรือค่าการส่งผ่านของเสียงที่ผู้ผลิตผนังกันเสียงหรือระบบกันเสียงนั้นระบุไว้ในเอกสารการขาย (technical data sheet) ของผลิตภัณฑ์นั้น ค่า STC ยิ่งมากแสดงว่าผนังกันเสียงนั้นสามารถต้านทานการเดินทางหรือการส่งผ่านของเสียงได้ดี เช่น ระบบหรือผนังกันเสียงที่มีค่า STC65 จะทำให้ได้ยินเสียงอีกด้านหนึ่งของผนังเบากว่าผนังที่มีค่า STC40 เป็นต้น ข้อควรระวังคือ หลายท่านมักเข้าใจผิดคิดว่าตัวเลขที่อยู่หลัง STC เช่น STC65 จะหมายถึงว่าผนังกันเสียงนั้นจะลดเสียงได้ถึง 65 dB แต่แท้จริงแล้วค่า STC จะได้มาจากค่า TL (Transmission Loss มีหน่วยเป็น dB) ของความถี่เสียง (frequency) จำนวน 16 ค่า ตั้งแต่ 125Hz ถึง 4000Hz แล้วนำมากำหนดในกราฟเส้นเพื่อเทียบกับค่ามาตรฐานของกราฟ STC ซึ่งค่าดังกล่าวนี้จะได้จากห้องทดสอบมาตรฐานเท่านั้น อีกค่าหนึ่งที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของผนังกันเสียงก็คือค่า NRC (Noise Reduction Coefficient) หรือค่าสัมประสิทธิ์การลดเสียงของวัสดุ กล่าวคือวัสดุที่มีค่า NRC ใกล้ 1.0 แสดงว่าวัสดุนั้นสามารถลดเสียงได้ดี (NRC มีค่าตั้งแต่ 0.0 – 1.0) เช่น หากวัสดุกันเสียงระบุว่ามีค่า NRC 0.8 ก็หมายถึงวัสดุนั้นจะกันเสียงได้ร้อยละ 80 อีกร้อยละ 20 ก็คือค่าเสียงที่ทะลุผ่านวัสดุนั้นมาได้นั่นเอง
ผนังกันเสียงสำเร็จรูปนำมาใช้เป็นผนังกันเสียงคอนโดมิเนียมได้หรือไม่
ผนังกันเสียงสำเร็จรูปมีหลายรูปแบบ เช่นผนังกันเสียงประเภทคอมโพสิตที่ประกอบด้วยแผ่นโฟม ฉนวนซับเสียงและแผ่นอลูมิเนียมหรือพลาสติค ผนังกันเสียงประเภทคอนกรีตหล่อ ผนังกันเสียงประเภทเทอร์โมพลาสติค ผนังกันเสียงแบบโลหะที่เจาะรูพรุนและมีฉนวนซับเสียงอยู่ด้านใน เป็นต้น ผนังกันเสียงแบบต่างๆนี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานป้องกันเสียงดังจากภายนอกเข้ามาภายในกรณีที่เป็นอาคารพักอาศัยได้ แต่มีปัจจัยที่ต้องควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนอยู่บ้างเช่น ปัจจัยด้านน้ำหนักของผนังกันเสียงสำเร็จรูปเทียบกับความสามารถในการรับน้ำหนักของแผ่นพื้นหรือโครงสร้างอาคารที่ต้องการจะติดตั้ง ปัจจัยด้านความสวยงาม ปัจจัยด้านการบำรุงรักษา และปัจจัยด้านราคาหรือด้านการลงทุนติดตั้งผนังกันเสียง
ราคาจำหน่ายของผนังกันเสียงและผนังเก็บเสียง
ระบบกันเสียงหรือผนังกันเสียงแต่ละแบบจะมีราคาตั้งแต่หลักร้อยบาทไปจนถึงหลักหมื่นบาทต่อตารางเมตร ขึ้นอยู่กับระดับเสียงที่ต้องการให้ลดลง สภาวะแวดล้อมในการใช้งาน อายุการใช้งาน ความสวยงาม และความสะดวกในการดูแลรักษา ผนังกันเสียงรบกวนสำหรับที่พักอาศัยทั่วไป ที่สามารถลดเสียงได้ในช่วง 5-10 dBA อาจจะใช้งบรวมทั้งค่าวัสดุและค่าแรงอยู่ที่ประมาณหลักพันบาทต่อตารางเมตร ในขณะที่ผนังกันเสียงในโรงงานสารเคมีที่ต้องลดเสียงได้ 10-20 dBA มีคุณสมบัติไม่ติดไฟ ไม่ลามไฟ ทนกรดและสภาพภูมิอากาศ อาจจะมีราคาเป็นหลักหมื่นบาทต่อตารางเมตรได้เหมือนกัน