การติดตั้งแผ่นซับเสียงภายในอาคาร
• แผ่นซับเสียงห้องประชุม
กรณีที่เลือกแผ่นซับเสียงแบบฟองน้ำหรือแผ่นใยสังเคราะห์ ทั้งโปลีเอสเตอร์ โปลีโพรไพลีน โปลียูรีเทน หรือวัสดุอื่นๆที่มีน้ำหนักเบา สามารถติดแผ่นซับเสียงได้ด้วยเทปกาวสองหน้า หรือกาวตะปูโดยการแต้มเฉพาะจุด ไม่จำเป็นต้องทาตลอดทั้งแผ่นซับเสียง
• แผ่นซับเสียงในห้องสำนักงาน
สำหรับออฟฟิศหรือพื้นที่สำนักงานที่มีเสียงก้องรบกวน จะนิยมใช้แผ่นซับเสียงที่มีสีสันเข้ากับสีหรือบรรยากาศในพื้นที่นั้น จึงนิยมใช้แผ่นซับเสียงที่มีเฟรมเป็นไม้กรุวัสดุซับเสียง และห่อทับด้วยผ้าที่มีสีสันต่างๆ ทั้งแบบผ้ากันไฟลามและผ้าธรรมดา แผ่นซับเสียงแบบนี้จะมีน้ำหนักมากกว่าแบบฟองน้ำ แต่ก็ซับเสียงได้ดีกว่า การติดตั้งจึงนิยมใช้ตะปูเกลียวเจาะยึดที่ผนัง ก่อนทำการแขวนแผ่นซับเสียง คล้ายกับการติดกรอบรูป
• แผ่นซับเสียงในห้องซ้อมดนตรี
ในห้องซ้อมดนตรีที่มีการติดแผ่นซับเสียง เราไม่จำเป็นต้องติดวัสดุซับเสียงเต็มพื้นที่ แค่เลือกติดเป็นบางมุมหรือบางด้านก็เพียงพอต่อการลดเสียงสะท้อน การติดแผ่นซับเสียงในห้องนี้จึงสามารถทำได้ทั้งโดยการทากาวแปะ หรือติดเทปกาวสองหน้าเหมือนแผ่นซับเสียงในห้องประชุม
• แผ่นซับเสียงในห้องดูหนังฟังเพลง
ห้องดูหนังฟังเพลงจัดได้ว่าเป็นห้องใช้งานส่วนบุคคล ยุคสมัยนี้จึงมีการออกแบบให้แผ่นซับเสียงที่จะนำมาติดในห้องนี้ สามารถเคลื่อนย้ายหรือเปลียนตำแหน่งได้ เพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่ายแก่ผู้ใช้ห้อง การติดแผ่นซับเสียงในห้องนี้สามารถทำได้ทั้งแบบ แม่เหล็ก ตะปูเกลียว และเทปกาว ขึ้นอยู่กับน้ำหนักแผ่นซับเสียงที่ถูกเลือกนำมาใช้
การติดตั้งแผ่นซับเสียงภายนอกอาคาร
• แผ่นซับเสียงสำหรับผนังลดเสียงเครื่องจักร
การติดตั้งผนังลดเสียงเครื่องจักรโดยการใช้แผ่นซับเสียง (ชนิดใช้งานภายนอกอาคาร) ติดกับโครงสร้างเหล็ก เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากมีขั้นตอนการทำงานที่ไม่ยุ่งยาก ใช้เงินลงทุนไม่สูงมากนัก และส่วนใหญ่สามารถลดเสียงรบกวนของเครื่องจักรได้ผลเป็นที่น่าพอใจ การติดตั้งแผ่นซับเสียงเข้ากับโครงสร้าง สามารถติดตั้งได้โดยการใช้เคเบิ้ลไทด์พลาสติค หรือลวดสแตนเลส ร้อยเข้ากับรูของแผ่นซับเสียง (ที่ถูกออกแบบให้ติดตั้งแบบนี้) จากนั้นทำการดึงรั้งหรือล็อคให้ติดแน่นกับโครงสร้าง (ส่วนใหญ่เป็นเหล็ก)
• แผ่นซับเสียงสำหรับลดเสียงริมรั้วโรงงาน
วิธีการติดตั้งแผ่นซับเสียงแบบนี้จะคล้ายกับแบบผนังลดเสียงเครื่องจักร ต่างกันตรงที่ตำแหน่งติดตั้งของแผ่นซับเสียงริมรั้ว ส่วนใหญ่จะทำการวางโครงสร้างเหล็กต่อขึ้นไปจากด้านบนสุดของรั้วโรงงานเดิม โดยใช้รั้วเป็นฐานหรือบางกรณีก็นิยมทำโครงสร้างขึ้นมาใหม่ต่างหาก โดยมีแนววางแนบติดกับรั้วโรงงานเดิม การติดตั้งแผ่นซับเสียงสามารถทำได้หลายวิธี แต่ที่นิยมกันคือการยึดด้วยตะปูเกลียวปล่อยสแตนเลส โดยเจาะยึดแผ่นฉนวนเข้าติดกับโครงสร้างโลหะ อีกวิธีคือการออกแบบให้แผ่นซับเสียงกรุอยู่ใน perforated sheet และนำไปวางต่อกันในช่องระหว่างเสา (slot) โดยออกแบบให้แต่ละแผ่นมีร่องไว้ยึดกันเองอย่างน้อยสองด้าน