ฉนวนกันเสียง เครื่องจักร อุตสาหกรรม ลดเสียงดังในระดับที่ปลอดภัย
เครื่องจักรอะไรบ้างที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียงดังในโรงงาน
เครื่องจักรที่ก่อให้เกิดมลภาวะด้านเสียงในโรงงานมีอยู่มากมายหลายประเภท แต่ละประเภทก็จะมีความถี่เสียงจำเพาะตามธรรมชาติ (natural frequency) เป็นคุณลักษณะของตัวเครื่องเองแตกต่างกันไป เช่น ประเภทที่ก่อให้เกิดเสียงความถี่ต่ำ (ช่วง 500 Hz ลงไป) ได้แก่ เครื่องกระเทาะเปลือกไม้ (debarked machines) เครื่องสับไม้ (chipping machines) เครื่องย่อยฟิล์มพลาสติค (crushers) พัดลมแบบโรตารี่ (rotary-air blowers) เครื่องอัดอากาศ (air compressors) เครื่องปั๊มชิ้นงาน (press machines) เครื่องบดวัตถุดิบ (ball mill) ไฮดรอลิคปั๊ม (hydraulic pumps) ระบบแลกเปลี่ยนความร้อนด้วยน้ำ (cooling towers) และ มอเตอร์ (motors) เป็นต้น สำหรับเครื่องจักรประเภทที่ก่อให้เกิดเสียงความถี่สูง (ช่วง 1000 Hz ขึ้นไป) ได้แก่ เครื่องอัดเส้นพลาสติค (extruding machines) เครื่องแยกสีวัตถุดิบ (color sorters) เครื่องแกะลาย CNC (CNC punching) เครื่องตัด (cutting machines) เครื่องขัด (grinding machines) เครื่องไสไม้ (planers) ระบบท่อลำเลียง (ducting) ระบบลม (pneumatic) เครื่องยนต์กังหัน (steam & gas turbines) เครื่องพ่นทราย (blasting machines) และเครื่องดึงเทปกาว (rewinding machines) เป็นต้น
ฉนวนกันเสียง เครื่องจักร ต่างกับ ฉนวนกันเสียงในอาคาร อย่างไร
ความแตกต่างประการสำคัญระหว่างฉนวนกันเสียงเครื่องจักรและฉนวนกันเสียงในอาคารคือ ความหนาแน่น (density) ของฉนวน และคุณสมบัติการไม่ลามไฟ (fire retardant) ฉนวนกันเสียงเครื่องจักรต้องการความหนาแน่นของเนื้อวัสดุที่สูงกว่า เพราะต้องปะทะกับพลังงานเสียงที่สูงมากต่อเนื่องกันตลอดเวลา (บางครั้ง 24 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลา 365 วัน) ความหนาแน่นของเนื้อวัสดุที่สูงจะช่วยให้ตัวฉนวนกันเสียงอยู่ทรงหรือคงรูปร่างการเป็นฉนวนได้ยาวนานกว่าวัสดุที่มีความหนาแน่นต่ำ ส่งผลให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับงานโรงงาน เนื่องจากการหยุดผลิตเพื่อติดตั้งหรือเปลี่ยนฉนวน หมายถึงการสูญเสียรายได้หรือกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนทางอ้อมให้กับสินค้าในโรงงานนั้นๆ ส่วนเรื่องคุณสมบัติการไม่ติดไฟหรือไม่ลามไฟ ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องของอายุการใช้งาน เพราะในหลายกรณีที่มีการนำฉนวนกันเสียงเครื่องจักร ไปใช้แก้ปัญหาเสียงดังรบกวนใกล้กับแหล่งกำเนิดเสียงที่อยู่ในพื้นที่ที่มีวัตถุไวไฟหรือสารเคมีที่ลุกติดไฟได้ การที่ฉนวนกันเสียงผลิตจากวัสดุที่ไม่ติดไฟ ถือเป็นมาตรการความปลอดภัยขั้นต้นที่ควรให้ความสำคัญ
เปรียบเทียบราคาของ ฉนวนกันเสียงเครื่องจักร กับ ฉนวนกันเสียงทั่วไป
ราคาขายของฉนวนกันเสียงเครื่องจักรจะสูงกว่าราคาฉนวนกันเสียงงานทั่วๆไปอยู่ราว 200-300% ในกรณีที่เทียบราคาต่อพื้นที่หรือเป็นบาทต่อตารางเมตร แต่หากเทียบราคาเป็นน้ำหนักหรือกิโลกรัมต่อหน่วย จะกลับกลายเป็นว่าราคาของฉนวนกันเสียงแบบทั่วไปที่มีความหนาแน่นต่ำกว่า จะมีราคาสูงกว่าฉนวนกันเสียงเครื่องจักรที่มีความหนาแน่นสูงกว่า 400-500% ทันที ซึ่งหากจะถามถึงความคุ้มค่าของฉนวนกันเสียงทั้งสองแบบนี้ ว่าจะลงทุนหรือเลือกฉนวนกันเสียงแบบไหนดี คำตอบก็คือเลือกลงทุนกับฉนวนที่แก้ปัญหาแล้วจบในครั้งเดียวจะดีที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาเสียงเครื่องจักรที่เราต้องการลดเสียง หากใช้ฉนวนกันเสียงเครื่องจักรที่ออกแบบมาตรงกับความถี่เสียงของเครื่อง ใช้เงินลงทุนหนึ่งหมื่นบาท แต่หากเลือกใช้ฉนวนกันเสียงทั่วไปมาแก้ปัญหาจะลงทุนเพียงสองในสาม เมื่อเลือกใช้ฉนวนแบบทั่วไปแล้วปัญหาด้านเสียงยังไม่จบ ก็ต้องลงทุนซื้อฉนวนมาเพิ่มหรือต้องเปลี่ยนฉนวนกันเสียงแบบใหม่ไปเลย ทำให้ผลสุดท้ายมีค่าใช้จ่ายกว่าการเลือกใช้ฉนวนกันเสียงเครื่องจักรตั้งแต่ครั้งแรก
คุ้มค่าหรือไม่ที่จะลงทุน ติดตั้งฉนวนกันเสียงเครื่องจักร
ความคุ้มค่าของแต่ละคนหรือแต่ละองค์กรมีมาตรฐานการวัดที่ไม่เท่ากัน แต่หากว่าการติดตั้งฉนวนกันเสียงเครื่องจักรมีค่าใช้จ่ายไม่เกินงบประมาณที่ตั้งไว้ และมีข้อมูลหรือหลักฐานที่เชื่อได้ว่าภายหลังการติดตั้งฉนวนกันเสียง ระดับเสียงของเครื่องจักรนั้นจะลดลงหรือเงียบลงจนหมดความรู้สึกรำคาญ (แย่สุดคือระดับเสียงภายหลังการปรับปรุงไม่ควรสูงกว่า 80-85 dBA) ก็นับได้ว่าคุ้มค่าที่จะลงทุนให้กับพนักงานหรือบุคลากรที่ต้องสัมผัสเสียงในบริเวณนั้น เพราะถือได้ว่าเป็นการช่วยลดความเสี่ยงของการสูญเสียการได้ยินให้กับทรัพยากรบุคคลขององค์กร เพราะระบบประสาทหูเสื่อมหรือมีกรณีสูญเสียการได้ยินเกิดขึ้น จะไม่สามารถทำการรักษาหรือคืนสภาพระดับการได้ยินให้กลับมาเหมือนเดิมได้
ระดับเสียงหลังจากติดตั้ง ฉนวนกันเสียงเครื่องจักร จะลดลงกี่ dBA
ระดับเสียงหลังการติดตั้งฉนวนกันเสียงเครื่องจักรมีระดับการลดลงที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับประเภทเครื่องจักร อายุการใช้งาน สถานที่ตั้ง คุณภาพและความถี่ในการซ่อมบำรุง รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย แต่สามารถตอบแบบกว้างๆได้ว่า ฉนวนกันเสียงเครื่องจักร ช่วยลดเสียงได้ประมาณ 6-15 dBA และในบางกรณีที่เครื่องจักรมีกำลังเสียงไม่มากนัก แต่มีระดับเสียงสูง การติดตั้งฉนวนกันเสียงเครื่องจักรก็สามารถลดเสียงลงได้ถึงเกือบ 20 dBA