เมื่อต้องเลือกฉนวนกันเสียงมาแก้ปัญหาเสียงดังรบกวนหรือมลภาวะทางเสียง หลายคนอาจจะสับสนและหนักใจเพราะมีความกังวลตามมาหลายเรื่องหลังติดตั้งฉนวนกันเสียง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแหล่งจำหน่าย งบประมาณ ระดับเสียงที่เปลี่ยนไป วิธีการติดตั้ง อายุการใช้งาน ความสวยงาม วิธีการดูแลรักษาและอื่นๆ เรื่องกังวลเหล่านี้จะหมดไปหรือลดลงหากเรารู้จักกับวัสดุหรือฉนวนกันเสียงแต่ละแบบ ที่มีให้เลือกใช้ตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ลองมาทำความรู้จักประเภทของฉนวนกันเสียงโดยสังเขปกัน
ฉนวนกันเสียงบนทางด่วน
เมื่อเราสัญจรบนทางด่วนในเขตกรุงเทพมหานคร เราจะสังเกตเห็นแผ่นกันเสียงที่ติดตั้งในบางจุดที่รถวิ่งผ่าน แผ่นกันเสียงเหล่านี้จะมีทั้งแบบที่มีลักษณะเป็นโลหะมีรูเล็ก (perforated steel) และด้านในจะมีฉนวนกรุอยู่เต็มแผ่น และอีกลักษณะคือเป็นแผ่นคอนกรีตหล่อที่มีผิวไม่เรียบ แต่ทั้งสองแบบที่เราสังเกตเห็นมีหน้าที่เหมือนกันคือ ช่วยลดเสียงรบกวนจากการวิ่งไปมาของยานพาหนะ ไม่ให้กระทบกับผู้รับเสียงที่อยู่ใกล้ทางด่วนบริเวณนั้น ฉนวนกันเสียงเหล่านี้มีราคาสูง เพราะต้องทนฝน ทนแดด และแข็งแรงพอที่จะไม่ล้มโค่นเมื่อโดนกระแสลมแรงหรือพายุ ฉนวนกันเสียงนี้จะมีลักษณะเฉพาะงาน ไม่ได้มีการใช้ทั่วไปที่อื่นนอกจากบนทางด่วนหรือทางรถวิ่งเท่านั้น
ฉนวนกันเสียงในบ้านพักอาศัย
บ้านพักอาศัยที่อยู่ติดถนนหรืออยู่ใกล้กับโรงงานที่ส่งเสียงรบกวน ระบบกันเสียงหรือฉนวนกันเสียงกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ (เว้นแต่ว่าสมาชิกภายในบ้านหลังนั้นสามารถอดทนต่อเสียงรบกวนนั้นได้) ฉนวนกันเสียงในบ้านพักอาศัยส่วนใหญ่ จะเป็นฉนวนที่มีขายตามห้างหรือร้านค้าฉนวนกันความร้อนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นม้วนหรือเป็นแผ่น จากนั้นนำกรุที่ผนังด้านในบ้าน ใส่ในช่องตรงกลางของผนัง ติดตั้งเหนือฝ้าหรือเพดาน รวมไปถึงการนำไปปูพื้นหรือรองพื้นกันเสียงด้านล่างขึ้นมาด้านบน ฉนวนกันเสียงแบบนี้มีราคาไม่สูงและนิยมใช้ร่วมกับหน้าต่างหรือกระจกกันเสียง เพื่อลดความดังเสียงที่จะดังทะลุเข้ามาภายในบ้าน
ฉนวนกันเสียงไซท์งานก่อสร้าง
งานก่อสร้างที่อยู่ใจกลางเมืองหรือที่อยู่ติดกับอาคารชุดที่มีผู้พักอาศัย อย่างเช่นคอนโดมิเนียมหรืออพาร์ทเม้นท์ จะมีปัญหามลภาวะทางเสียงและความสั่นสะเทือนร่วมกับปัญหาด้านฝุ่นตามมา เราจึงเห็นได้ว่าปัจจุบันหลายไซท์งานที่อยู่ใจกลางชุมชนหรือสถานที่ที่ต้องการความเงียบสงบ จะมีการติดตั้งฉนวนกันเสียงที่ผนังด้านในรั้วโครงการ ฉนวนกันเสียงแบบนี้จะมีราคาสูงกว่าฉนวนกันเสียงที่ใช้ในอาคารพักอาศัย เพราะต้องทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศทั้งแดด ฝน ฝุ่นและความชื้น วัสดุที่ทำฉนวนกันเสียงประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นโปลีเอสเตอร์ มีความหนาที่นิยมกันคือ 50 มม ไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านฉนวนทั่วไป
ฉนวนกันเสียงในห้องสัมมนา
ห้องสัมมนาบางห้องที่อยู่ใกล้หรือติดกับห้องประชุมอื่น มีโอกาสสร้างเสียงรบกวนได้มากโดยเฉพาะการสัมมนาที่ผู้เข้าร่วมต้องทำกิจกรรมด้วยกัน ฉนวนกันเสียงที่ใช้ในห้องลักษณะนี้จะถูกออกแบบหรือเลือกตั้งแต่ก่อนการก่อสร้างห้องแล้วเสร็จ ฉนวนกันเสียงจะมีลักษณะคล้ายหรือเป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในบ้านพักอาศัย แต่อาจจะต่างกันที่ความหนาและความหนาแน่น ราคาของฉนวนกันเสียงแบบนี้จึงอยู่ในช่วงที่ใกล้เคียงกับฉนวนกันเสียงที่ถูกใช้ในอาคารพักอาศัย สามารถซื้อหาได้ทั่วไป มีอายุการใช้งานยาวนานพอกัน
ฉนวนกันเสียงเครื่องจักรในโรงงาน
โรงงานมีหลายประเภทหลายกิจการ เพราะฉะนั้นผลกระทบเรื่องเสียงที่เกิดขึ้นในแต่ละทึ่จึงมีความต่างกัน ในบางกรณีสามารถนำฉนวนกันเสียงที่ใช้ลดเสียงในอาคารไปใช้แก้ปัญหาด้านเสียงได้ แต่ส่วนใหญ่จะใช้แล้วได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากแหล่งกำเนิดเสียงในโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ จะมีความดังเสียงมาก มีพลังงานด้านเสียงเข้มข้น รวมไปถึงสภาพแวดล้อมการทำงานที่ต้องเจอฝุ่น น้ำมัน สารเคมีหรือความร้อน ทำให้ฉนวนกันเสียงที่ใช้ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะด้านและมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ทำให้ฉนวนประเภทนี้มีราคาสูง มีความหนาแน่นและน้ำหนักมาก ไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านทั่วไป เราจึงไม่พบเห็นฉนวนกันเสียงแบบนี้ในชีวิตประจำวัน เพราะนอกจากหาซื้อได้ยาก น้ำหนักมากแล้ว ราคาก็สูงกว่าฉนวนกันเสียงแบบทั่วไปอีกด้วย