เมื่อเสียงจากภายนอกผ่านรูหูเข้ามา คลื่นเสียงจะทำให้แก้วหูสั่น จังหวะการสั่นของแก้วหูจะถูกส่งผ่านจากหูชั้นกลางเข้าสู่หูชั้นใน ภายในบริเวณหูชั้นในจะมีเซลล์ขน (Hair cell) ราว 30,000 เซลล์ ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานเสียงเป็นสัญญาณไฟฟ้า แล้วส่งต่อไปยังสมอง เพื่อแปลความหมายของสัญญาณที่ได้รับ
การสูญเสียการได้ยินเนื่องจากประสาทหูเสื่อมนั้น สัญญาณต่าง ๆ จะไม่สามารถเดินทางไปสู่สมองได้ เพราะแม้ว่าคลื่นเสียงสามารถเดินทางไปถึงหูชั้นในได้ แต่เซลล์ขนในหูตายไปแล้ว ดังนั้น เราจึงไม่ได้ยินอะไร ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการหูตึง
หูตึง หมายถึง ความสามารถในการรับฟังเสียงลดลง จะตึงมากตึงน้อยขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยคนปกติจะมีระดับการได้ยินที่ 25 เดซิเบล หรือน้อยกว่า ขณะที่คนหูตึงระดับการได้ยินจะมีค่าสูงกว่านั้น
อาการหูตึง อาจเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อย ส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานในที่ที่มีเสียงดังอยู่ตลอดเวลา หรือสัมผัสกับเสียงที่ดังเกินมาตรฐานความปลอดภัย 85 เดซิเบล อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้สูงอายุก็มักจะมีอาการหูตึงแบบค่อยเป็นค่อยไปเช่นกัน โดยเกิดจากประสาทหูเสื่อม หูตึงจากสาเหตุลักษณะนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถใช้อุปกรณ์ช่วยฟังได้โดยทั่วไป
สำหรับสาเหตุก็เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ส่วนใหญ่จะเนื่องมาจากปัญหาที่หูชั้นนอกหรือหูชั้นกลาง เช่น เกิดจากเป็นโรคหูน้ำหนวก หูชั้นกลางอักเสบ ขี้หูอุดตัน กระดูกภายในหู คือ กระดูกค้อน ทั่ง โกลน มีหินปูนมาเกาะหรือแยกหลุดออกจากกัน ที่ยูสเตเชี่ยน ซึ่งเป็นท่อที่ทำหน้าที่ปรับความดันในหูชั้นกลางเกิดการอุดตัน และแก้วหูทะลุ เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถให้ยาหรือผ่าตัดรักษาได้
อาการหูตึงอาจเกิดขึ้นได้จากปัญหาที่หูชั้นใน คือที่ประสาทหู เช่น การติดเชื้อ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ซึ่งอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เวียนศีรษะบ้านหมุน มึนงง หรือมีเสียงดังในหู อาการหูตึงในลักษณะนี้ บางชนิดสามารถรักษาได้โดยการกินยา บางชนิดรักษาได้โดยการผ่าตัด
การใช้เครื่องช่วยฟังในผู้ใหญ่ก็เช่นกัน ควรพาผู้ป่วยไปตรวจวัดระดับการได้ยินก่อนว่าหูตึงมากน้อยเพียงใด และจะได้ประโยชน์จากการใช้เครื่องช่วยฟังหรือไม่ แม้ว่าปัจจุบันจะมีเครื่องช่วยฟังหลายแบบ ตั้งแต่ขนาดเล็กที่ซ่อนในช่องหูได้อย่างแนบเนียน แบบมีโปรแกรมแยกหลายช่องการทำงาน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการรับฟังเสียงได้ดีกว่าเครื่องในรุ่นก่อน ๆ มาก อย่างไรก็ตาม ไม่ควรด่วนตัดสินใจซื้อตามคำโฆษณา
สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ควรจะมีระบบการตรวจสอบ เสียงดังเกินมาตฐาน พร้อมทั้งวิเคราะห์การแก้ปัญหาเสียงดัง รวมถึง การหามาตรการในการดูแลพนักงาน ไม่ให้ได้รับเสียงดังเกินมาตรฐาน เช่น การติดตั้งฉนวนกันเสียงดัง ติดตั้งฉนวนกันความร้อนกันเสียงดังเครื่องจักร การติดตั้งผนักกั้นเสียงห้องควบคุมเครื่องจักรที่เสียงดัง การใส่หูฟังกันเสียงดังให้แก่พนักงาน เพื่อลดเสียงดังที่ส่งผลกระทบต่อคนงาน เป็นต้น